งานวิจัยพบสารพิษทำลายประสาทในเมนูฉลาม

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี่พบว่าในหูฉลามและเนื้อฉลามมีสารพิษที่มีส่วนทำลายระบบประสาทและก่อให้เกิดอาการอัลไซเมอร์ปริมาณสูงมาก นอกเหนือไปจากสารปรอทที่สูงจนน่ากลัวเช่นกัน
ทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบตัวอย่างครีบและเนื้อฉลามจำนวน10 ชนิดที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติกและพบว่ามีสารพิษสองกลุ่มในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์คือ ปรอท และ β-N-methylamino-L-alanine (BMAA) “งานวิจัยบ่งชี้ว่าสารพิษตัวหลัง BMAA มีฤทธิ์ทำลายประสาท เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS” Deborah Mash ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา นักวิจัยอาวุโสในทีมกล่าว
ทั้งปรอทและ BMAA ต่างมีอันตรายในตัวเองอยู่แล้ว แต่นักวิจัยยังพบด้วยว่าการพบสารพิษทั้งสองชนิดอยู่ด้วยกันอาจเกิดปฏิกิริยาทำให้มีฤทธิ์ร้ายแรงขึ้นไปอีก
“ความที่ฉลามเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร เนื้อเยื่อของพวกมันจึงเป็นแหล่งสะสมสารพิษที่นอกจากจะเป็นอันตรายต่อตัวมันเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้นิยมบริโภคฉลามและหูฉลามอีกด้วย” Neil Hammerschlag ผู้ช่วยศาสตราจารย์และหัวหน้าทีมงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี่เปิดเผย
ผลิตภัณฑ์จากฉลามไม่ว่าจะเป็นหูฉลาม (ครีบ) กระดูกอ่อน และเนื้อ ได้รับความนิยมในหมู่คนเอเชียบางกลุ่มโดยเฉพาะคนจีนในฐานะที่เป็นอาหารและยาแผนโบราณ แม้จะมีงานวิจัยออกมามากมายว่าไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารพิเศษแต่อย่างใด
ประมาณว่าทุกปีมีฉลามถูกฆ่าราว 100-200 ล้านตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสมดุลระบบนิเวศใต้ทะเลเมื่อสัตว์ผู้ล่าสูงสุดหายไปจากระบบนิเวศ ฉลามอย่างน้อย 16% อยู่ในสถานะถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธ์
งานศึกษาชิ้นนี้เก็บตัวอย่างจากฉลามที่มีสถานภาพไม่น่าเป็นห่วง (least concern) คือ bonnethead shark ไปจนถึง ใกล้สูญพันธุ์ (endanger) ตามการจัดขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
“ผลการศึกษาของเราชี้ชัดว่าคนที่กินฉลามมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท” ศาสตราจารย์ Mash กล่าวเตือน
ทุกคนควรตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพจากการบริโภคฉลาม นอกจากนี้การไม่สนับสนุนเมนูอย่างหูฉลาม เนื้อฉลาม ยังเป็นการสนับสนุนงานอนุรักษ์ และช่วยลดการคุกคามฉลาม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล และหลายชนิดถูกไล่ล่าจนใกล้สูญพันธุ์
อ่านงานวิจัยเต็มได้ที่
Neil Hammerschlag, David Davis, Kiyo Mondo, Matthew Seely, Susan Murch, William Glover, Timothy Divoll, David Evers, Deborah Mash. Cyanobacterial Neurotoxin BMAA and Mercury in Sharks. Toxins, 2016; 8 (8): 238 DOI: 10.3390/toxins8080238