ภารกิจฟื้นฟูมหาสมุทรของแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทย

ตัวอย่างการฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลด้วยการสร้างแหล่งดำน้ำใหม่ในโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล เป็นความสำเร็จอันเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่พิสูจน์แล้วว่า ช่วยปกป้องแนวปะการังธรรมชาติ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวในจังหวัดชุมพรและสุราษฏร์ธานี ผ่านนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำปีละเกือบ 3 หมื่นคน สร้างรายได้ปีละเกือบ 60 ล้านบาท และลดการสัมผัสปะการังได้ถึง 16 ล้านครั้ง แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งนี้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ในการกอบกู้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับมหาสมุทรได้อย่างเป็นรูปธรรม
การฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยการสร้างแหล่งดำน้ำโดยมนุษย์
มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ผิวของโลกราวร้อยละ 70 และกักเก็บน้ำมากถึงร้อยละ 96.5 ของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่มหาสมุทรคือกลไกควบคุมสมดุลของสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตบนโลกอย่างแท้จริง ผ่านวัฏจักรของน้ำ กระแสคลื่นลมที่ไหลเวียนไปทั่วโลก รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่เหมือนปั๊มน้ำชีวภาพขนาดยักษ์อย่างวาฬ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วอย่างแพลงก์ตอนพืชที่ทำให้มหาสมุทรเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนราวครึ่งหนึ่งของอากาศที่เราทุกคนหายใจ ช่วยดูดซับความร้อนกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์ และยังกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1 ใน 4 ที่ถูกปล่อยออกมาทุกๆ ปี
ทว่าระบบนิเวศทางทะเลกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากการประมงเกินขนาด ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล มลภาวะและน้ำเสียจากชายฝั่ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนใต้น้ำ จนเกิดเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่บ่อยครั้งทั่วโลก ในประเทศไทยปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2553 ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อแนวปะการังทั่วประเทศ ความเสื่อมโทรมของปะการังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งในเชิงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเศรษฐกิจและสังคม เช่น การปิดพื้นที่ไม่ให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อเปิดโอกาสให้แนวปะการังฟื้นตัว ย่อมกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นจำนวนมาก
หนึ่งในการจัดการเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศในภาวะวิกฤติคือการสร้างแหล่งดำน้ำโดยมนุษย์ (Man-made Dive Sites) เพื่อช่วยลดแรงกดดันในการใช้ประโยชน์แนวปะการังธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้มีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ด้วยโครงสร้างสามมิติ เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์น้ำ
ร่วมกันสร้างความยั่งยืนของท้องทะเล
ปตท.สผ. ผู้ดำเนินธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลไทย จึงช่วยผลักดันให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริง โดยนำเรือรบหลวงที่ปลดประจำการแล้วมาจัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล ในจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล โดยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กองทัพเรือ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตัวแทนผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรือหลวงปราบ และเรือหลวงสัตกูด เกียรติภูมิเรือรบหลวงไทย
ภารกิจครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้รับการสนับสนุนเรือรบหลวง 2 ลำ จากกองทัพเรือ คือ เรือหลวงปราบ และ เรือหลวงสัตกูด ซึ่งทั้งสองลำเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดเล็ก (Landing Craft Infantry) มีความยาวเกือบ 50 เมตร ที่ขึ้นระวางประจำการในปี 2490 ทำหน้าที่ลำเลียงพลขึ้นบก ลาดตระเวนน่านน้ำ ช่วยเหลือเรือประมงที่ประสบอุบัติเหตุ และทำหน้าที่ “เรือครู” ให้นักเรียนนายเรือ ฝึกหลักสูตรการเดินเรือและการใช้อาวุธ จนกระทั่งปลดประจำการในปี 2549 ด้วยเกียรติภูมิและขนาดของเรือ จึงมีความเหมาะสมสำหรับการนำมาวางเป็นแนวปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งดำน้ำสำหรับนักท่องเที่ยว นับเป็นการนำทรัพยากรทางประวัติศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ภารกิจการวางเรือที่ก้นทะเลเพื่อเป็นแนวปะการังเทียม
หลักเกณฑ์สำคัญของการเลือกพื้นที่วางเรือ คือต้องช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับแนวปะการังได้จริง และเป็นตำแหน่งที่นักดำน้ำสามารถเดินทางมาได้สะดวก และไม่ไกลจากแนวปะการังธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวเดิมมากนัก ก่อนจะวางเรือหลวงทั้งสองลำ ต้องหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการดำน้ำสำรวจใต้พื้นทะเล เพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับการวางเรือ โดยศึกษาทั้งสภาพกระแสน้ำ ความขุ่นของน้ำ ลักษณะพื้นท้องทะเล และจำนวนชนิดของสัตว์น้ำต่าง ๆ โดยกำหนดตำแหน่งวางเรือที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร
สำหรับที่ เกาะเต่า จุดวางเรือ คือตำแหน่งบริเวณใกล้กองหินขาวซึ่งเป็นจุดดำน้ำสำคัญทางทิศตะวันตกของเกาะเต่า และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์เกาะติดจำนวนมาก เช่น ปะการัง เห็ดทะเล ดอกไม้ทะเล กัลปังหา ปะการังดำ ฟองน้ำ ฯลฯ และส่วนที่ เกาะง่ามน้อย เป็นเกาะสัมปทานนกนางแอ่นมีผาหินปูนสูงชัน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมหาศาล และเป็นแหล่งดำน้ำตื้นที่มีชื่อเสียงในพื้นที่
งานสำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การเตรียมการเรือหลวงให้พร้อมทั้งด้านการปรับสภาพเรือหลวงให้เหมาะแก่การเป็นแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลที่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเลน้อยที่สุด โดยการทำความสะอาดเรือ ทาสีเรือใหม่ด้วยสีไร้สารตะกั่วทั่วทั้งลำ และกำจัดสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อกุ้งหอย ปู ปลา เช่น ไฟเบอร์ ฯลฯ ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างที่อาจเป็นอันตรายต่อนักดำน้ำ และการติดป้ายบอกเขตดำน้ำเฉพาะสำหรับนักดำน้ำที่ผ่านการอบรมหลักการดำน้ำเรือจม (Wreck Diving) เป็นต้น
บ้านใหม่ใต้ทะเล
สิ่งที่น่าประทับใจคือตลอดการดำเนินงาน ได้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปด้วย ภายหลังจากที่มีการวางเรือหลวงทั้งสองลำไปแล้ว โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน คือ
1) การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มทำตั้งแต่วางเรือลงสู่พื้นท้องทะเล ทั้งการติดตามปริมาณตะกอนฟุ้งกระจาย ขยะหรือสารที่หลงเหลืออยู่ในเรือ ตลอดจนสภาพพื้นท้องทะเลและกระแสน้ำ ซึ่งผลการศึกษายืนยันว่า ไม่พบผลกระทบต่อพื้นท้องทะเล สัตว์เกาะติดและปลาทะเลยังคงมีสภาพเดิม
2) การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เกาะติดและประชากรปลา ในวันแรกพบฝูงปลามงเข้ามาว่ายวนเวียน ผ่านไป 1 ปี ชนิดปลาเพิ่มมากกว่า 40 ชนิด และปัจจุบัน พบว่ามีชนิดของปลาเพิ่มขึ้น 60-70 ชนิด โดยเฉพาะที่ เรือหลวงปราบ จะพบเห็นฉลามวาฬได้อย่างสม่ำเสมอ สำหรับสัตว์เกาะติด มีปริมาณเพิ่มมากขึ้อย่างเห็นได้ชัด โดยในระดับความลึก 18 เมตร พบฟองน้ำเคลือบ และที่ระดับความลึก 25 เมตร พบปะการังดำซึ่งเป็นสัตว์พันธุ์เด่น (Dominant Species)
3) การศึกษาด้านการใช้ประโยชน์และการจัดการแหล่งดำน้ำเรือหลวง พบว่าการนำเรือหลวงมาวางเป็นแนวปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งดำน้ำแทนแนวปะการังธรรมชาตินั้น ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีเรือหลายลำแวะเวียนนำนักท่องเที่ยวมาดำน้ำชื่นชมความงดงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล รวมถึงนักเรียนดำน้ำที่เข้ามาใช้เป็นสนามสอบดำน้ำอีกด้วย
บทพิสูจน์ความสำเร็จของการฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างเป็นระบบ
นับตั้งแต่วางเรือมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปี เรือทั้งสองลำทำหน้าที่เสมือนเป็นแนวปะการังเทียมแทนแนวปะการังธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของบรรดาสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่เข้ามาอาศัยบริเวณลำเรือ ช่วยพัฒนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลของนักดำน้ำ นักท่องเที่ยว สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ปีละกว่า 59 ล้านบาท จากจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 28,000 คนต่อปี
การอนุรักษ์ทะเลและการฟื้นฟูมหาสมุทรเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นภารกิจสำคัญของมวลมนุษย์ในยุคนี้ ความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลด้วยการสร้างแนวปะการังเทียมจากเรือรบหลวงที่ปลดประจำการแล้ว เป็นตัวอย่างการทำงานฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นระบบ มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่สมควรได้รับการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทะเลไทย