ลดรอยเท้าจากปาล์มน้ำมัน ด้วยการผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ

หากเอ่ยถึง ‘น้ำมันปาล์ม’ เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูอยู่บ้าง เพราะเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มากมายหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา กว่าครึ่งของอาหารที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างก็มีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์มที่นอกจากจะถูกนำมาใช้ในการผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมขบเคี้ยว รวมถึงไอศกรีมที่เราชื่นชอบแล้ว น้ำมันปาล์มยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาทำความสะอาด และลิปสติก จนกล่าวได้ว่าน้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกก็ว่าได้
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา น้ำมันปาล์มเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นภัยคุมคามต่อป่าฝนเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ทั้งพืชและสัตว์โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ป่าฝนในบริเวณนี้ทำหน้าที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจกไว้ในดิน และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หายากหลายชนิด เช่น อุรังอุตัง แรด เสือโคร่ง และช้าง การทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันนอกจากซ้ำเติมภาวะโลกร้อนแล้วยังเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศที่ประเมินค่าไม่ได้ นอกจากนี้การเผาป่าพรุเพื่อนำที่ดินไปปลูกปาล์มน้ำมันยังเป็นที่มาของปัญหาหมอกควันในภูมิภาคและปรากฎเป็นข้อพิพาทกับสิงคโปร์อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ การถางป่าเพื่อปลูกต้นปาล์ม ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและการรณรงค์ให้เลิกใช้น้ำมันปาล์มขึ้นอย่างแพร่หลาย
แน่นอนว่า เมื่อประชากรและความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ความต้องการน้ำมันปาล์มก็เพิ่มขึ้นไปด้วย คำถามคือ…เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเราจำเป็นต้องเลิกบริโภคน้ำมันปาล์มเลยหรือ ‘เป็นไปได้’ หรือไม่ที่เราจะผลิตและบริโภคน้ำมันปาล์มควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สวนปาล์มน้ำมัน แหล่งผลิตน้ำมันปาล์ม อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เ
RSPO มาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืน
ปัจจุบัน เรามีมาตรฐานรับรองน้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ไม่บุกรุกหรือทำลายผืนป่า พื้นที่เพาะปลูกปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานขององค์กรเจรจาระหว่างประเทศด้านปาล์มน้ำมันยั่งยืน หรือ Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) เป็นตราประทับยืนยันว่าน้ำมันปาล์มนั้นไม่รบกวนระบบนิเวศที่เปราะบางหรือป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ (เช่น ป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์) ปลูกในที่ดินมีเอกสารสิทธิรับรอง นอกจากนี้ เกณฑ์การพิจารณาของ RSPO ยังกำหนดให้เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องแหล่งน้ำ ดิน และสภาพแวดล้อม ใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสมและห้ามการเผาไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม มิติด้านสังคมรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนก็อยู่ในข้อกำหนดของ RSPO เช่นกัน โดยสวนปาล์มจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ปราศจากการใช้แรงงานเด็ก ต้องได้รับความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่น โดยชุมชนท้องถิ่นจะยังมีอิสระและได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนด้วย โดยหลักการ 8 ประการของมาตรฐาน RSPO ได้แก่ 1.ความโปร่งใส, 2.ทำตามกฎหมายและระเบียบ, 3.สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว, 4.ทำตามวิธีการดูแลรักษาปาล์มน้ำมันที่ดี, 5.ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม, 6.รับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชน, 7.ปลูกปาล์มใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ, 8.พัฒนาสวนปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง
คุณกนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทยได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “การต่อต้านน้ำมันปาล์มโดยไม่รู้แน่ชัดว่าน้ำมันปาล์มเหล่านั้นมาจากผืนป่าจริงหรือไม่ ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดีเพราะนั่นเท่ากับเป็นการตัดท่อรายได้ของเกษตรกรรายย่อยหลายแสนครัวเรือนในประเทศไทยที่ไม่ได้บุกรุกป่า เราต้องยอมรับว่า การบุกรุกเพื่อปลูกปาล์มคือเรื่องจริง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า พื้นที่ปลูกปาล์มไม่ได้มาจากผืนป่าทั้งหมด จึงไม่ควรเหมาว่าน้ำมันปาล์มทั้งหมดเป็นผู้ร้าย”
กลไกสำคัญของ RSPO คือ การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อดูว่าน้ำมันปาล์มมาจากการบุกรุกป่าและเกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้บริโภคในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานแทนที่จะต่อต้านการบริโภคน้ำมันปาล์มเสียทั้งหมด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำลายผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติ อย่างในกรณีประเทศไทยที่พื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ส่วนใหญ่ล้วนมาจากพื้นที่การเกษตรเดิม เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ หรือนาข้าวร้าง ปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกต้นปาล์มในเมืองไทยจึงมีน้อยมาก

เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเราจำเป็นต้องเลิกบริโภคน้ำมันปาล์มเลยหรือ ‘เป็นไปได้’ หรือไม่ที่เราจะผลิตและบริโภคน้ำมันปาล์มควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การส่งเสริมปาล์น้ำมันยั่งยืนในประเทศไทย
เมื่อปี 2561 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ริเริ่ม ‘โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ภายใต้กลุ่มโครงการด้านการเกษตรและอาหาร เพื่อสนับสนุนภาครัฐและและเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มรายย่อยให้มีความเข้าใจการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อ
- ส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อย
สร้างวิทยากรการฝึกอบรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศเพื่อถ่ายทอดหลักสูตรให้กับเกษตรกร และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยให้มีการปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับมาตรฐานน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ (เช่น มาตรฐาน RSPO) - พัฒนาความร่วมมือ
สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานเพื่อสนับบสนุนเกษตรกรรายย่อย รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศ - พัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในสวนปาล์ม
ส่งเสริมและสาธิตมาตรการต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกจากสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อย รวมทั้ง พัฒนาระบบสำหรับติดตามและรายงานผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น - พัฒนากรอบแนวคิดเพื่อขยายผล
สนับสนุนและศึกษาแนวทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนากรอบแนวคิดเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนส่งเสริมและขยายผลการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการรับรองเชิงพื้นที่หรือ Jurisdictional Approach (เช่น ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ) ในอนาคต

‘โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ส่งเสริมการปฏิบัติที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อย
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการฯ ประสบความสำเร็จในพื้นที่นำร่อง
หนึ่งในกิจกรรมหลายกิจกรรมที่สำคัญภายใต้โครงการฯ คือ การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมวิทยากร “หลักสูตรเกษตรกรรายย่อยด้านปาล์มน้ำมันของประเทศไทย: Thailand Oil Palm Smallholder Academy (TOPSA)” ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นเครื่องมือพัฒนาเกษตรกรรายย่อยสู่ความยั่งยืน โดยพัฒนาจากบทเรียนที่ผ่านมาของทีมงาน GIZ ที่ได้ตระหนักถึงปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลผลิตจากปาล์มน้ำมันที่ได้รับมาตรฐาน RSPO ในประเทศไทย โดยเฉพาะการขาดการขยายผลอย่างต่อเนื่องที่ทำให้องค์ความรู้ที่ได้จบไปพร้อมกับโครงการ การพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมามุ่งเน้นการสร้างวิทยากรเพื่อส่งต่อความรู้สู่เกษตรกรรายอื่น โดยเลือกวิทยากรหรือเทรนเนอร์ทั้งจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ตัวแทนจากโรงงานน้ำมันปาล์มที่เป็นคู่ร่วมมือของโครงการ และผู้นำเกษตรกรที่มีศักยภาพ เข้ามารับการอบรมกลุ่มก่อน ซึ่งทางโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2563 และวิทยากรบางส่วนได้เริ่มส่งขยายผลต่อองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่นในโครงการแล้ว ทางโครงการฯ ตั้งเป้าหมายปลุกปั้นวิทยากรใน 3 จังหวัดที่อยู่ในโครงการ คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ จำนวน 200-300 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำความรู้ไปขยายต่อยอดสู่เกษตรกรได้อีก 3,300 รายในพื้นที่นำร่องของโครงการ
หลักสูตรฯ ประกอบไปด้วยเนื้อหา 5 โมดูล ซึ่งเป็นแก่นของการส่งเสริมการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ได้แก่
- มาตรฐาน RSPOหลักสูตรนี้เน้นเรื่องความเป็นมาของมาตรฐาน RSPO ว่าทำไมต้องมีการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรายย่อยเมื่อปาล์มน้ำมันจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล นอกจากนั้นหลักสูตรนี้ยังรวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นสมาชิกของ RSPO ในการสนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
- เกษตรกรรมหลักสูตรนี้เน้นเรื่องการปฏิบัติที่ดีในสวนปาล์มน้ำมัน (GAPs) การใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมในสวนปาล์ม การดูแลและจัดการสวนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปฏิบัติในสวนปาล์มเพื่อให้ผลผลิตสูงขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
- สิ่งแวดล้อมหลักสูตรนี้เน้นถึงการทำสวนปาล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การบริหารจัดการกลุ่มหลักสูตรนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถทำงานในรูปแบบกลุ่ม มีระบบควบคุมภายในเข้ามาบริหารจัดการ การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการที่แม่นยำ เกิดการช่วยเหลือและแก้ปัญหาด้วยกัน และยังช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นประโยชน์และความสำคัญในการทำงานร่วมกันมากขึ้น
- สังคมเป็นหลักสูตรที่เน้นถึงการทำสวนปาล์มที่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมให้น้อยที่สุด เช่น เรื่องการประเมินผลกระทบด้านสังคม และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนปาล์มน้ำมัน

(RSPO) เป็นตราประทับยืนยันว่าน้ำมันปาล์มนั้นไม่รบกวนระบบนิเวศที่เปราะบางหรือป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ (เช่น ป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์) ปลูกในที่ดินมีเอกสารสิทธิรับรอง
ผู้บริโภคและบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
อีกตัวละครที่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของปาล์มยั่งยืน ก็คือ ผู้บริโภค ที่เป็นผู้กำหนดว่าจะ ‘หยุด’ หรือ ‘ปล่อย’ ให้ปัญหาดำเนินต่อไป นั่นหมายความว่าผู้บริโภคจะต้องมีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มเสียก่อนว่ามีผลกระทบอย่างไร การจัดการที่ไม่ยั่งยืนเป็นอย่างไร และในฐานะผู้บริโภคจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง
เมื่อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องเดินหน้าไปควบคู่กัน เราจึงไม่สามารถให้ผู้ผลิตเป็นจำเลยต่อปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้เพียงฝ่ายเดียว ผู้บริโภคสามารถแสดงความรับผิดชอบและเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาผ่านการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรจะยอมรับก็คือเราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และต่างก็มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย การตระหนักว่าเราเองมีส่วนในการสร้างปัญหาและมีส่วนในการกำหนดทิศทางของตลาดได้คือจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนสินค้าที่มีฉลาก RSPO ซึ่งจะสร้างรายได้และผลกำไรสู่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม เป็นแรงจูงให้เกษตรกรดำเนินการปลูกปาล์มด้วยวิธีที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน RSPO ต่อไป เพราะกว่าที่เกษตรกรหนึ่งคนจะสามารถปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนและผ่านการรับรอง RSPO ได้ ต้องผ่านหลายขั้นตอนและหลักเกณฑ์มากมาย รวมถึงต้องผ่านการอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะรอบด้าน ซึ่งมีต้นทุนทั้งในรูปตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน การส่งเสริมการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคและภาคประชาชนจึงเป็นอีกภารกิจที่ GIZ ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยมี เฟซบุ๊กของ GIZ เกษตรกรรักโลก เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้
อีกบทบาทหนึ่งของผู้บริโภคก็คือเมื่อเราทราบข้อมูลแล้ว เราสามารถส่งเสียงและแบ่งปันข้อมูลนั้นให้กับคนรอบข้าง ร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ โดยพิจารณาทางเลือกที่ทิ้งรอยเท้าไว้น้อยที่สุด รวมถึงหันมาสนับสนุนสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO มาเป็นวัตถุดิบ
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนน้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน ที่ไม่ทำลายผืนป่า และช่วยปกป้องระบบนิเวศได้ โดยร่วมกันส่งเสียงให้บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เปลี่ยนมาใช้ “น้ำมันปาล์ม” ที่ได้มาตรฐาน RSPO ผ่านการตอบแบบสำรวจของเราผ่าน https://www.asean-agrifood.org/quiz/palm_oil_q/

ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนสินค้าที่มีฉลาก RSPO ซึ่งจะสร้างรายได้และผลกำไรสู่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม เป็นแรงจูงให้เกษตรกรดำเนินการปลูกปาล์มด้วยวิธีที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน RSPO ต่อไป
เอกสารประกอบการเขียน
https://www.thai-german-cooperation.info/th/palm-oil-the-other-side-of-the-truth/
https://www.asean-agrifood.org/palm-oil-thai/
https://www.worldwildlife.org/pages/which-everyday-products-contain-palm-oil
https://www.rspo.org/file/RSPO.pdf