CO2 – Climate Change – Catastrophe เมื่อคาร์บอนฯ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนไปสู่จุดหายนะของท้องทะเลไทย

เมื่อ ‘ทะเลไทย’ อาจกลายเป็น ‘ออนเซ็น’ ขนาดใหญ่ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส! ชวนรู้ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาวะโลกร้อน และปรากฏการณ์ Marine Heat Wave ที่เกิดขึ้นแล้วกับทะเลไทย และผลของมันโหดร้ายกว่าที่คิด
ลึกลงไปใต้ท้องทะเล คลื่นน้ำกำลังเคลื่อนไหวแทรกผ่านร่างช่างภาพหนุ่ม ซึ่งกำลังตั้งใจจดจ่ออยู่กับการลั่นปุ่มชัตเตอร์ของกล้องในมือในจังหวะที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้ภาพถ่ายใต้ทะเลที่สะท้อนเรื่องราวของปัญหา ‘ปะการังฟอกขาว’ ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อนออกมาให้ได้ชัดเจนและครบถ้วนที่สุด
ชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำงานด้านนี้มานานกว่า 14 ปี ทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ ‘ท้องทะเลไทย’ ที่สามารถบอกเล่าเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อนใต้ทะเลอย่างตรงไปตรงมาและเชื่อถือได้ที่สุดคนหนึ่ง
ชินเล่าว่าเขาผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก ที่บ้านจะมีหนังสือเกี่ยวกับทะเลเยอะ จึงโตมากับภาพทะเลจากหนังสือเหล่านั้น อีกทั้งครอบครัวชอบพาเขาไปเที่ยวทะเลบ่อยๆ ยิ่งได้ลองดำน้ำชมโลกใต้น้ำ เห็นความตระการตาของโลกอีกใบ ก็ยิ่งทำให้หนุ่มคนนี้หลงรักทะเลไทยมากขึ้นไปอีก และกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเขาจนถึงทุกวันนี้ แต่ทะเลที่เขาเคยชื่นชมความงามในวัยเด็ก กลับแตกต่างจากทะเลในวันที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปในปี 2010 เหตุการณ์ที่รบกวนจิตใจคนรักทะเลอย่างเขา คงหนีไม่พ้นปัญหาปะการังฟอกขาวในครั้งนั้น
“มันเป็นเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อทะเลแถบเอเชียแปซิฟิกหนักมาก เนื่องจากปะการัง เป็นสัตว์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยสาหร่ายชนิดหนึ่ง โดยสาหร่ายจะให้พลังงานและสร้างสีสันต่างๆ ให้ปะการัง ส่วนปะการังก็ให้แร่ธาตุที่จำเป็นแก่สาหร่าย แต่ช่วงนั้นอากาศร้อนติดต่อกันนานมาก พออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ก็ทำให้สาหร่ายอยู่ไม่ได้และหลุดออกมาจากตัวปะการังเพื่อหาที่อยู่อื่น ทำให้ปะการังกลายเป็นสีขาวและตายไปในที่สุด” ชินเล่าสะท้อนภาพ ที่เขาเห็นมากับตาให้เราฟัง
คาร์บอนไดออกไซด์เร่ง “ภาวะโลกร้อน” ที่กำลังทำลายโลกใต้ทะเล
แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้มีผู้ร้ายที่ต้องโทษก็คือ “ภาวะโลกร้อน” หลายคนอาจคิดว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบแค่สิ่งแวดล้อมบนบกเท่านั้น แต่รู้หรือไม่? ผลจากภาวะโลกร้อนก็ส่งต่อความโหดร้ายไปยังโลกใต้ทะเลด้วย และสิ่งที่ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนก็คือ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนโดยตรง แต่ทำไมมันถึงทำให้โลกของเราร้อนขึ้นได้ล่ะ? แล้วก๊าซเหล่านี้มาจากไหน? เรื่องนี้ ช่างภาพใต้น้ำผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับประเด็น Climate Change มายาวนาน อธิบายว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยมาจากการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุกๆ กิจกรรม คุณสมบัติของมันคือเป็นก๊าซที่ดูดซับความร้อนได้เยอะมาก เมื่อก๊าซชนิดนี้ไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศก็ทำให้ความร้อนถูกดึงไปสะสมไว้บนชั้นบรรยากาศด้วย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อย่างที่เราประสบพบเจอกันอยู่ทุกวันนี้

ภาพ: ชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
“ตอนนี้ก๊าซคาร์บอนฯ สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณมหาศาลมาก และมันใกล้จะถึงจุดที่ระบบต่างๆ บนโลกจะรับความร้อนนั้นต่อไปไม่ไหวแล้ว อุณหภูมิโลกจะยิ่งทวีความร้อนมากขึ้นไปกว่านี้อีก ซึ่งไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบต่อโลกบนบก แต่ยังส่งผลกระทบต่อโลกใต้น้ำด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไหลเวียนกระแสน้ำในมหาสมุทรที่ผิดเพี้ยนแปรปรวนอย่างมาก จนกระทบต่อระบบนิเวศน์ใต้ทะเล รวมไปถึงภาวะที่น้ำทะเลกลายสภาพเป็นกรด เนื่องจากดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ เมื่อน้ำทะเลเป็นกรดก็จะกัดกร่อนปะการัง และทำให้สัตว์เปลือกแข็งต่างๆ ไม่สามารถสร้างกระดองของพวกมันได้ อัตราการตายของสัตว์ทะเลจะเพิ่มขึ้น” เขาย้ำให้เห็นถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อโลกใต้ทะเล
ปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นแล้ว และอาจหยุดไม่ได้!
เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ที่จะมัวรอช้าโดยไม่ทำอะไรได้อีกแล้ว ยืนยันอีกเสียงจาก ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชั้นแนวหน้าของไทย ให้ข้อมูลว่านักวิทยาศาสตร์มีข้อบ่งชี้หลายอย่างที่ระบุว่า ทะเลของโลกเรา (ไม่ใช่เฉพาะในไทย) จะทรุดโทรมลงกลายเป็นทะเลที่โศกเศร้า จนถึงขณะนี้ บางคนก็ยังไม่ตระหนักว่าการขาดความรับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ นั้น เมื่อรวมกันทั้งโลกมันกลายเป็นผลกระทบที่ยิ่งใหญ่
“คนเราไม่ได้เริ่มปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้เมื่อ 5 ปีก่อน แต่เริ่มปล่อยกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1850 ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราพูดถึงมันในแง่ของวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า เพิ่มความสะดวกสบายให้มนุษย์ จริงอยู่ว่าวิทยาการเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมองให้ครบสองด้าน เพราะอีกด้านหนึ่งวิทยาการเหล่านี้ คือตัวการผลิตก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน”
“เชื่อหรือไม่ ณ วันนี้โลกของเราปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ปริมาณมากถึง 40 กิกะตัน หรือ 40,000 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้วันนี้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 1.1 – 1.2 องศาเซียลเซียส เมื่อเทียบกับเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และกำลังจะสูงขึ้นอีก 1.5 องศาฯ อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
แม้ว่าวันนี้คนทั้งโลกจะช่วยกันหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 40,000 ล้านตัน ก็แก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่ทันแล้ว เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว! และจะหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เช่น การเกิดภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ที่รุนแรงขึ้น บ่อยขึ้น สัตว์บกสัตว์น้ำตาย ภาวะขาดแคลนอาหาร ผู้คนแย่งชิงทรัพยากร และเกิดความโกลาหลที่คาดเดาไม่ได้ไปทั่วโลก ดร.ธรณ์บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ในเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า ปัญหาภาวะโลกร้อนจะหนักหนากว่านี้ และคงจะไม่ถึงขั้นที่วิกฤตพิสดาร แต่ถ้าโลกร้อนกินเวลานานกว่า 30 ปีข้างหน้าขึ้นไป คนที่จะโดนผลกระทบ ไม่ใช่คนรุ่นนี้ แต่คือคนที่กำลังเรียนจบปีนี้หรือเด็กๆ ที่อายุน้อยลงไปกว่านั้นที่จะเดือดร้อน พวกเขาและพวกเธอจะอยู่ในโลกที่ปู่ย่าตายายไม่เคยเล่าให้ฟัง
เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้น สัตว์น้ำไม่รอด คนก็ไม่รอด
เมื่อโลกร้อนขึ้นแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อเรายังไงบ้าง? ดร.ธรณ์ให้คำตอบทันทีว่า มนุษย์ทั่วโลกจะเจอภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมฉับพลัน ภัยแล้ง คลื่นความร้อนสูงฉับพลัน จนเกิดการสูญเสียชีวิตของคนมากมาย ยกตัวอย่างในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา (บางรัฐ) พบอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติถึง 10 องศาเซลเซียสในเวลาสั้นๆ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงปัญหา Marine Heat Wave หรือคลื่นความร้อนในทะเล ซึ่งมันมาพร้อมกับภาวะโลกร้อน อย่าคิดว่าโลกร้อนจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นบนผิวโลกอย่างเดียว เพราะในทะเลก็จะเกิดภาวะน้ำทะเลร้อนขึ้นเช่นกัน ทำให้เกิดความแปรปรวนขั้นสูง และสร้างความเสียหายมหาศาล หากมองภาพความเสียหายในทะเลไทยฝั่งอ่าวไทย พบว่าปีนี้ทะเลไทยฝั่งอ่าวไทยเกิดปะการังฟอกขาว ในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกในจังหวัดระยอง ตรงนั้นมีปะการังนับแสนๆ ก้อน ตายหมดภายในเวลา 2-3 อาทิตย์
“ผมได้มีโอกาสไปตรวจวัดอุณหภูมิน้ำทะเลทางฝั่งระยอง พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลในแนวปะการังแถวนั้นสูงผิดปกติอยู่ที่ 38 องศาฯ ผมวัดมาเองกับมือ มีข้อมูลอยู่ให้เห็นชัดเจน เทียบเท่าความร้อนของออนเซ็นที่ฮอกไกโด ขณะที่ลูกศิษย์ผมก็เคยรายงานว่าบางจุดพบหญ้าทะเลตายเนื่องจากน้ำทะเลร้อนเกินไป ขนาดหญ้าทะเลและปะการังยังอยู่ไม่ได้ สัตว์น้ำต่างๆ ก็คงจะไม่รอด”
สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในแง่อื่นๆ ตามมาอีกเป็นหางว่าว ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงท้องถิ่นเข้าจอดเรือตามอ่าวไม่ได้อีกต่อไป เพราะเมื่อปะการังตายจำนวนมาก ก็ไม่มีแนวกันคลื่นตามธรรมชาติ หรือกลุ่มประมงเลี้ยงหอย ปรากฏว่าลงทุนเลี้ยงไปเท่าไรหอยก็ตายหมด เพราะน้ำทะเลร้อนขึ้น ก็เกิดการขาดทุน ทำมาหากินไม่ได้ เป็นต้น
หนทางชะลอความร้อนให้โลก ยังเป็นไปได้ไหม?
ต้องยอมรับกันอย่างจริงจังแล้วว่า ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบต่อทะเลและวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างมหาศาล แม้เป็นคนเมืองที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนติดทะเล ก็ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมของภาวะโลกร้อนและน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นตามไปด้วย แต่วันนี้มนุษย์ยังช่วยชะลอไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงไปกว่านี้ได้ ด้วยการ “ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ทั้งในระดับปัจเจก ครัวเรือน ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม
ชินสะท้อนความคิดเห็นว่า หากมนุษย์เราช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ แม้ไม่อาจทำให้ภาวะโลกร้อนหยุดไปในทันที แต่อย่างน้อยก็จะช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิของโลกเราสูงไปกว่านี้ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องทำตอนนี้และเดี๋ยวนี้ เพราะเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เราอยู่รอดต่อไป
โดยวิธีง่ายที่สุดที่คนทั่วไปสามารถช่วยลดอุณหภูมิให้ทั้งผิวโลกและท้องทะเลได้ ก็คือ การลด Carbon Footprint ของทุกคนให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ ช่วยกันลดผลกระทบที่ทำให้โลกร้อนขึ้น หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ปัญหานี้คลี่คลายมากขึ้น
อาจเริ่มง่ายๆ จากตัวเอง เพิ่มเติมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบตัว ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง และเริ่มลด ละ เลี่ยง กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งชินยอมรับว่า ผู้คนสมัยนี้หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้กันมากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น สมัยนี้มักจะมีผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา เพื่อช่วยลดความร้อน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้
หนึ่งในนั้นคือ อิงค์เจ็ทพรินเตอร์รุ่นใหม่ของเอปสัน ที่ไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ (Heat-Free Technology) และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 85% รวมไปถึงชิ้นส่วนในตัวพรินเตอร์เอง ก็ยังมีส่วนประกอบที่ต้องเปลี่ยนทดแทนน้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 59% ทำให้ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงได้
“อุตสาหกรรมการพิมพ์ มันมีสเกลที่ใหญ่มาก แทบจะทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนต้องใช้งานพรินต์เตอร์ในสำนักงาน ผมมองว่าเอปสันเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้พรินเตอร์ไม่ต้องใช้ความร้อนในการพิมพ์ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ถึง 85% ถือเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ไอทีให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงผลักดันให้ธุรกิจอื่นๆ ในวงการเดียวกันหันมาใส่ใจในเรื่องการอนุรักษ์มากขึ้นด้วย หากทุกธุรกิจปรับเปลี่ยนจุดนี้ไปด้วยกัน จะทำให้ภาพของอุตสาหกรรมการพิมพ์ เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีต่อโลกใบนี้มากขึ้นแน่นอน”
ด้าน ดร.ธรณ์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 ที่แล้ว การที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นแนวอนุรักษ์มันอาจจะลำบากและขัดต่อวิถีชีวิตอย่างมาก แต่สมัยนี้ไม่ใช่ เพราะมีการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เอื้อให้คนรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นเทรนด์สุดคูลของคนรุ่นใหม่ เช่น เลือกใส่รองเท้าที่ทำจากขยะพลาสติก เลือกใส่เสื้อยืดที่รีไซเคิลจากขวดน้ำ หรือการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ทำให้คำว่า “รักษ์โลก” ได้ฝังอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนสมัยนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวงการแฟชั่น วงการดาราศิลปิน หรือแม้กระทั่งวงการธุรกิจ องค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลกก็มีการพูดถึงการลดคาร์บอนฯ ภายในองค์กร มีความพยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้องค์กรของเขาสามารถรับผิดชอบต่อโลกได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น องค์กรธุรกิจในทุกวันนี้ จะไม่พูดถึงเฉพาะผลกำไรอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่ได้ผลกำไร ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นคือสิ่งที่ท้าทายองค์กรธุรกิจไปอีกขั้นหนึ่ง
ยกตัวอย่าง เอปสัน ผู้นำด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ ล่าสุดทราบมาว่าบริษัทฯ ได้พัฒนาพรินเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีหัวพิมพ์ที่เรียกว่า Heat-Free Technology พิมพ์ได้โดยไม่ต้องใช้ความร้อน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้จำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าจะมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง นี่คือการแสดงถึงความใส่ใจสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ต้นทางการผลิตในโรงงาน ที่จะรวมถึงทุกๆ ขั้นตอนการผลิตที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯ ด้วย ตามนโยบายของสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งต้องการให้เอปสันเป็นแบรนด์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ที่สำคัญ เมื่อมีผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกแบบนี้ออกมาให้คนทั่วไปได้ใช้งาน ย่อมทำให้คนทั่วไปในสังคมได้มีส่วนร่วมที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยกันลดภาวะโลกร้อนไปพร้อมๆ กันได้ ทุกภาคส่วน
“ผมสนับสนุนเสมอนะ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจใดที่พยายามลงทุนในการหาเทคโนโลยีในการก้าวล้ำไปในเรื่องของความรับผิดชอบต่อโลก เรื่องโลกร้อน บางทีมันเป็นเรื่องของความใส่ใจ ความกระตือรือร้น ที่อยากจะมีส่วนร่วมในการลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตรงนี้ ดังนั้นบอกได้ว่าเอปสันมีความใส่ใจในการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมทำให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ได้พูดคุยกับเอปสันแล้วผมมีความสุข” ดร.ธรณ์ พูดทิ้งท้าย
สามารถชมคลิปสัมภาษณ์เต็มได้ที่